ทิศทางพลาสติกชีวภาพ

พลาสติกชีวภาพ

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ทำโครงการส่งเสริมการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในโครงการ 45 วัน รวมพลังลดถุงพลาสติก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการเห็นด้วยเป็นอย่างดียิ่งจากหน่วยงานต่าง ๆ ล่าสุด สส. จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เอส.ซี.จี เคมีคอลส์ จำกัด ทำ “โครงการการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม ณ ร้าน Puff & Pie” ซึ่งโครงการนี้บริษัท Thai Airwaysได้นำร่องให้ความร่วมมือในการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในร้าน Puff & Pie

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าธุรกิจการบิน 30 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นการเข้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอื่น ๆ ของบริษัทเป็นสิ่งที่ต้องทำ ควบคู่กันไป นอกจากจะใช้พลาสติกชีวภาพใน ร้านเบเกอรี่แล้ว ในครัวการบินไทยที่ผลิตอาหารสำเร็จรูป มีนโยบายที่จะลดขยะพลาสติกต่อไป ทั้งนี้ในธุรกิจการบินตั้งเป้าไว้ว่าในปี ค.ศ.2050 จะพัฒนาเชื้อเพลิงที่มาจากพลังงานสะอาดมาใช้เป็นพลังงานสำหรับเครื่องบิน เพื่อทดแทนน้ำมัน

สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากร ธรรมชาติและภาวะแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรบริโภคพลาสติกต่อหัวปีละ 46.8 กิโลกรัม และก่อให้เกิดขยะพลาสติกตกค้างอยู่ปีละประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เวลา 300-400 ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้พลาสติกชีวภาพ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือใช้มาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ผลิต เพื่อลดต้นทุนผลิตพลาสติก และยังช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูก อ้อย และมันสำปะหลัง ทำให้พืชเหล่านี้มีราคาขึ้นมา หากมีช่องทางการแปรรูปมาทำเป็นพลาสติกชีวภาพทั้งนี้พลาสติกชีวภาพลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกับถุงพลาสติกเคมีที่ใช้กันอยู่

ด้านดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สนช. กล่าวว่าปัจจุบันมีบริษัทในบ้านเราที่สนใจผลิตพลาสติกชีวภาพ 47 บริษัท โดยใช้วัตถุดิบจากอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งจากการศึกษาแล้วจะไม่ส่งผลกระทบกับการผลิตเอทานอลที่ใช้วัตถุดิบตัวเดียวกัน เพราะถ้าเทียบกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก 27 ล้านตันจะใช้วัตถุดิบเพียง 1 ล้านตัน อีกทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ได้หันมาปลูก อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งพลาสติกชีวภาพจะเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะตลาดในยุโรปที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เวลานี้ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ เป็นของบริษัท เนเจอร์ เวิร์ก ที่สหรัฐอเมริกา

ถึงกระนั้นก็ตาม การดำเนินโครงการนำร่องนี้ เป็นรูปแบบที่นำมาใช้สนับสนุนการจัดทำนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้ พลาสติก ชีวภาพ ภายใต้แผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนา อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ พ.ศ. 2551-2555 เพื่อสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของประเทศ ไทย และเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ชุมทางด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่าง ครบวงจร.

No comments:

Post a Comment